ปัญหาคิ้วตก หนังตาตก
ภาวะคิ้วตก
ภาวะคิ้วตก เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงวัย เกิดขึ้นจากความหย่อนคล้อยของเนื้อเยื่อบริเวณหน้าผากและคิ้ว ร่วมกับการอ่อนแรงลงของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการยักคิ้ว หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ เช่น กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงจากเส้นประสาทใบหน้าบาดเจ็บ หรือมีก้อนมาเบียด
คนไข้ที่มาปรึกษาเรื่องหนังตาตก บ่อยครั้งมีภาวะคิ้วตกร่วมด้วย แต่อาจจะรู้หรือไม่รู้ตัว การแก้ไขเพียงหนังตา จะยังคงสภาพที่คิ้วตกอยู่ ทำให้มีระยะระหว่างคิ้วและตาแคบ ทำให้ดูไม่แจ่มใส ชั้นตาหลบใน หรืออาจก่อให้เกิดความไม่เท่ากันได้ คิ้วตกนี้ส่วนมากจะเป็นสองข้าง แต่การเป็นเพียงข้างเดียวก็พบได้บ่อยเช่นกัน
การประเมินภาวะคิ้วตก
สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
- เปรียบเทียบกับขอบกระดูกโหนกคิ้ว โดยในผู้หญิงควรอยู่เหนือขอบโหนกคิ้วประมาณ 0.5 ซม. ส่วนในผู้ชายควรอยู่ในระดับพอดีกับขอบโหนกคิ้ว
- พื้นที่ใต้คิ้ว โดยระยะระหว่างใต้คิ้ว ไปจนถึงชั้นตา ควรมีระยะประมาณ 1 ซม.
- เทียบกับตำแหน่งของตาดำ โดยขอบบนขอบคิ้วในแนวกลางตาดำ ควรอยู่สูงกว่ากึ่งกลางตาดำประมาณ 25 มม.
การรักษาภาวะคิ้วตก
ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ความรุนแรงของภาวะคิ้วตก ความคาดหวัง และผลของการรักษาที่ต้องการ ส่วนการผ่าตัดแก้ไขมีหลายวิธี คือ
- การผ่าตัดยกขมับ (Temporallift)
- การผ่าตัดยกหน้าผาก ซ่อนแผลที่แนวไรผม (Foreheadlift)
- การผ่าตัดยกคิ้ว แผลเหนือคิ้ว (Direct browlift)
- การผ่าตัดยกคิ้วแบบส่องกล้อง ร่วมกับการใช้วัสดุยึดตรึงคิ้ว (Endoscopic browlift with endotine)
แต่ละวิธีมีข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดต่างกัน ควรปรึกษากับแพทย์ผ่าตัดที่จะทำการรักษาให้ก่อนผ่าตัด และการผ่าตัดยกคิ้วนี้ สามารถทำก่อน, หลัง หรือพร้อมกันกับการผ่าตัดแก้ไขหนังตาบนหย่อนคล้อยก็ได้ ขึ้นกับความถนัดและความเชี่ยวชาญของแพทย์ผ่าตัดแต่ละท่าน